SPACE JOURNEY BANGKOK นิทรรศการเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆให้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ปลายปีนี้เตรียมพบกับนิทรรศการสุดตื่นตา ที่จะพาเราไปค้นหาถึงห้วงลึกของอวกาศ ครั้งแรกในเอเชีย

SPACE JOURNEY BANGKOK ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมี คุณเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน พร้อมด้วยคุณปิติภัทร บุรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง ภิรัชบุรี กรุ๊ป ผู้ร่วมจัด “SPACE JOURNEY BANGKOK” สุดยอดนิทรรศการด้านอวกาศระดับโลกให้เกิดขึ้นครั้งแรกในไทยและในเอเชีย

งานแถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการ “Space Journey Bangkok” ณ ห้องสตูดิโอชั้น 5 สถานที่ index creative village (ลำดับจากซ้ายไปขวา) คุณเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) คุณปิติภัทร บุรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภิรัชบุรี กรุ๊ป นักจัดการ สร้างสรรค์ และพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ระดับคุณภาพ คุณดำรง ลี้ไวโรจน์ Senior Editorial Director แห่งบริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด ในเครือ อมรินทร์ กรุ๊ป

ร่วมเสวนาเปิดมุมมองพร้อมสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของไทยในอนาคต (ลำดับจากซ้ายไปขวา) ดร. ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ คุณกรทอง วิริยะเศวตกุล แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ

ภายในนิทรรศการจะแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ ที่มีการบอกเล่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเริ่มต้นขึ้นไปสำรวจอวกาศตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน

  • ห้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการสำรวจอวกาศ
  • ห้องรวบรวมวัตถุจริงและวัตถุหาชมยากกว่า 600 ชิ้น ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และอื่นๆ นำมาจัดแสดงผ่าน 10 ห้องนิทรรศการในรูปแบบเสมือนจริง, โซนโลกจักรวาลแบบ Interactive พร้อมมอบประสบการณ์ชมภาพยนตร์ 3 มิติ และกิจกรรมแห่งความสนุกสนาน ต่างๆ อาทิ คอสมอส แคมป์ (Cosmos Camp) พบกับศูนย์ฝึกอบรมนักบินอวกาศ การขับขี่ VR รวมถึงเครื่องไจโรสโคป เป็นต้น

งานนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมเปิดมุมมองพร้อมสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของไทยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น ดร. ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และคุณกรทอง วิริยะเศวตกุล แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ พร้อมด้วย คุณดำรง ลี้ไวโรจน์ Senior Editorial Director แห่งบริษัท เอเอ็มอี อิมเมจิเนทีฟ จำกัด ในเครือ อมรินทร์ กรุ๊ป

นิทรรศการเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆให้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เพราะเทคโนโลยีและอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ล้วนอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน จุดประสงค์ของนิทรรศการนี้เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเยาวชนไทย พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ในอนาคต

และในเรื่องราวของอวกาศ บุคคลากรไทยมีศักยภาพและความสามารถหลากหลายด้านอันน่าทึ่งกว่าที่หลายคนคาดคิด เช่น อาหารไทยที่ผ่านมาตรฐานระดับสากลจนได้รับเลือกให้เป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศ หรือเทคโนโลยีไมโครชิปและดาวเทียมที่ผลิตโดยคนไทย รวมถึงนักวิชาการไทยที่ร่วมงานกับองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่างนาซ่า เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเดินทางสู่อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป

ปักหมุดไฮไลต์ที่น่าสนใจสำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ ผู้เข้าชมจะได้พบกับ

  • ชิ้นส่วนประกอบดั้งเดิมของเครื่องยนต์ F1 ของกระสวยอวกาศ แซทเทิร์น V (Saturn V) ที่กอบกู้มาจากก้นมหาสมุทรแปซิฟิก โดย Jeff Besos เจ้าของ Amazon ซึ่งเป็นวัตถุที่มีคุณภาพสูง จะเห็นได้ว่าตัววัตถุนี้เองยังสามารถคงรูปร่างได้ดี แม้จะอยู่ในที่ที่อุณหภูมิต่ำในมหาสมุทร หรือผ่านจุดที่อุณหภูมิสูงใกล้จุดหลอมเหลวมาแล้วก็ตาม
  • แผงควบคุมต้นฉบับจากศูนย์บัญชาการภารกิจฮูสตัน ที่วิศวกรได้ใช้สื่อสารกับนักบินอวกาศในภารกิจ Apollo และกระสวยอวกาศชุดแรกๆ และที่น่าสนใจคือกระดาษที่มีการคำนวณเส้นทางการบินต่างๆ ที่เหล่าวิศวกรได้คำนวนด้วยมือ วางไว้อยู่ด้านข้าง
  • แบบจำลอง 1:1 ของโมดูลควบคุมยาน Apollo โมเดลนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมตามยุคสมัยตลอดระยะเวลาการบิน ซึ่งนักบินอวกาศต้องอยู่ในพื้นที่แคบที่ต้องแบ่งปันพื้นที่กับวัสดุที่เก็บมาด้วย เช่น ชิ้นส่วนหินจากดวงจันทร์
  • แบบจำลองรถสำรวจดาวอังคาร หุ่นยนต์ที่ทำงานหนักที่สุดนอกโลกจากเดิมมีแผนทำงาน 90 วัน แต่สุดท้ายทำงานถึง 5,498 วัน
  • แบบจำลองของยานสำรวจดวงจันทร์ ช่วยนักบินอวกาศไม่ต้องเดินเท้าในภารกิจ Apollo 15, 16 และ 17
  • รถสำรวจดวงจันทร์ Lunokhod ของรัสเซีย ส่งขึ้นไปแทนมนุษย์บนยาน Luna ผ่านการควบคุมจากศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน
  • คอลเลคชันของอุกกาบาต รวมหินจากดาวอังคารของสะสมที่มีเอกลักษณ์มูลค่าต่อกรัมสูงกว่าทองคำ

งานจัดขึ้นตลอด 4 เดือนเต็ม
ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2567 – 16 เมษายน 2568 นี้
ณ Event Space 98 ไบเทคบุรี (ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา)
สำหรับผู้สนใจเข้าชมงานสามารถติดต่อซื้อบัตรและติดตามข่าวสารได้ทาง
www.icvticket.com
Facebook : Space Journey BKK
Line: @icvticket