สรุปประเด็นในงานเสวนา SACIT Craft Power 2025 Symposium

งานเสวนา SACIT Craft Power 2025 Symposium โดย สศท. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “วิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มศิลปหัตถกรรมปี 2568”

งานคราฟต์ไทยแฝงไปด้วยเสน่ห์ ด้วยกรรมวิธีสร้างสรรค์ผลงานแต่ละอย่างชิ้นล้ำค่า เพียงแต่จะนำคุณค่าเหล่านี้ออกสู่สายตาตลาดโลกได้อย่างไร ก่อนจะสูญหายไปตามกาลเวลา

ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการศิลปหัตถกรรม และการออกแบบระดับโลกจากทั้งไทยและต่างประเทศ ที่จะมาถ่ายทอดแนวคิด และองค์ความรู้เกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรม เพื่อพัฒนางานคราฟต์ในเชิงพาณิชย์ และเป็นหนึ่งในแรงผลักดันงานคราฟต์ของไทยให้ก้าวไกลไปสู่ตลาดโลก ผ่านประเด็นน่าสนใจในการเสวนา 3 หัวข้อ จากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 6 ท่าน ได้แก่

“ศิลปหัตถกรรมไทยสู่สากล” จากรากเหง้าสู่สากล พัฒนางานศิลปหัตถกรรมสู่เวทีระดับโลก

“ถอดรหัสศิลปหัตถกรรม สู่งานศิลปะร่วมสมัย” การค้นหาอัตลักษณ์แห่งชนชาติ ต่อยอดสู่ศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย.

“โลกตื่นตัวเรื่อง Sustainability ไทยตื่นตัวเรื่อง Soft Power

“ศิลปหัตถกรรมไทยสู่สากล” จากรากเหง้าสู่สากล พัฒนางานศิลปหัตถกรรมสู่เวทีระดับโลก
โดยคุณศรัณญ อยู่คงดี ผู้ก่อตั้ง แบรนด์ SARRAN และ Mr. Jean Charles Chappuis
ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัท Currey & Company
ผู้นำเข้างานศิลปะ และของแต่งบ้านจากเอเชียสู่ตลาดยุโรป
.
จากหัวข้อเสวนาเดียวกันแต่ได้มุมมองที่หลากหลาย เพื่อชวนมองไปถึงรากเหง้าแก่นแท้ของความเป็น
งานคราฟต์ไทยว่าสามารถพัฒนาไปให้ไกลสู่เวทีโลกได้อย่างไร
.
เรารู้กันดีว่างานคราฟต์ของไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่บทสนทนาของคุณศรัณญ เผยให้เรามองเห็นแสงสว่างเล็กๆ ที่จะสร้างโอกาสให้งานศิลปหัตถกรรมของไทยไปไกลมากกว่าเดิม เพียงตั้งคำถามใหม่อีกครั้งว่า งานคราฟต์ไทยตอบสนองต่อชีวิตประจำวันได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากจะต้องสวย โดดเด่น จนนำมาโชว์ได้แล้ว งานชิ้นดังกล่าวสามารถช่วยแก้ปัญหาอะไรในชีวิตประจำวันเราได้บ้าง กล่าวได้ว่างานคราฟต์ไทยควรคำนึงถึงการใช้งานที่เข้าถึงผู้คนง่ายยิ่งขึ้น

ในขณะที่ Mr. Jean Charles Chappuis นำเสนอให้เห็นประเด็นสำคัญของเรื่อง “เทรนด์” ด้วยอาชีพเป็นผู้นำเข้างานศิลปะ และของแต่งบ้าน จึงมองว่าเป็นไปได้ยากมากที่เราจะนำสินค้าส่งออกโดยไม่สนใจว่า แนวโน้มตลาดโลกในปัจจุบันกำลังสนใจเรื่องอะไรหรือต้องการสิ่งไหนเป็นพิเศษ การวิเคราะห์เทรนด์จะมีส่วนช่วยในการสร้างสรรค์งานคราฟต์ในแบบใหม่ ต่อยอดจากงานฝีมือที่มีคุณค่าเช่นเดิม แต่ทันยุค ทันสมัย ถูกใจเป้าหมายและเข้าใจตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

“ถอดรหัสศิลปหัตถกรรม สู่งานศิลปะร่วมสมัย” การค้นหาอัตลักษณ์แห่งชนชาติ ต่อยอดสู่ศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย
โดยคุณนักรบ มูลมานัส ศิลปินและนักสร้างสรรค์ด้านภาพ และ
Mr. Haoyang Sun ฑูตศิลปะและการออกแบบระดับนานาชาติ, ภัณฑารักษ์โครงการเครื่องประดับระดับนานาชาติ
.
คำว่า “ความเป็นไทย” สามารถนำไปผสมผสานกับงานศิลปะได้หลากหลาย และนำเสนอเรื่องราวให้เข้ากับยุคสมัยได้ เพียงนำมาตีความใหม่ เพราะแท้จริงแล้วเอกลักษณ์ความเป็นไทยก็เกิดจากการรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมรอบตัวจนก่อเกิดมาเป็นอัตลักษณ์ดังกล่าว งานศิลปะร่วมสมัยก็เช่นเดียวกัน เกิดจากการสร้างสรรค์ต่อยอดจากเอกลักษณ์ดั้งเดิม ก่อเกิดเอกลักษณ์ในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่การตีความหมายของงานศิลปะนั้นเปิดกว้างอย่างมาก และการตีความอย่างหลากหลายนี้เอง ช่วยให้ผลงานพัฒนาได้มาก และเพิ่มมูลค่าให้กับงานได้

สอดคล้องไปกับแนวคิดของ Mr. Haoyang Sun ที่มองว่า “เอกลักษณ์ประจำชาติ” หรือสิ่งที่เป็นรากเหง้านั้น ควรเพิ่มคุณค่าด้วยการด้วยการนำเสนอในรูปแบบที่มีความเป็นสากลมากขึ้น ให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย ทุกคนสามารถรับรู้ความหมายในเชิงเป็นสากลได้ หรือเกิดเป็น Common Sense of Value ที่จะช่วยพัฒนา
งานคราฟต์ไทยเข้ากับยุคสมัยยิ่งขึ้น

โลกตื่นตัวเรื่อง Sustainability ไทยตื่นตัวเรื่อง Soft Power
โดย รศ.ดร.สิงห์ อิทรชูโต อาจารย์ด้านนวัตกรรมอาคารแห่ง ม.เกษตรศาสตร์, ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบด้านสิ่งแวดล้อม และ
Mr. Martin Venzky-Stalling ที่ปรึกษาอาวุโส อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ม.เชียงใหม่
ผู้ก่อตั้งงานหัตถกรรมภาคเหนือ หรือ salah made, ผู้ก่อตั้งรางวัล CDA (Creative Design Awards) สำหรับงานดีไซน์ภาคเหนือ
.
กระแสตื่นตัวเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และ Soft Power ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่วิสัยทัศน์ของ รศ.ดร.สิงห์ อิทรชูโต แสดงให้เรามองเห็นหนทางที่จะนำผลงานคราฟต์ไทยไปสู่ตลาดโลกได้นอกเหนือไปจากการผลิตสินค้าอย่างยั่งยืน แม้งานคราฟต์ของไทยช่วยสร้าง Soft Power เพราะสินค้ามีคุณค่าทางใจผ่านกรรมวิธีผลิตจากฝีมือครูช่างที่สืบทอดต่อกันมา แต่การจะสร้างสรรค์ผลงานสักหนึ่งชิ้นที่เปี่ยมด้วยคุณค่าและมูลค่าสู่สากลได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วนอย่างมาก เป็นไปไม่ได้เลยที่ครูช่าง ผู้ผลิตงานฝีมือจะสามารถนำเสนอสู่ตลาดโลกอย่างเพียงลำพัง หากขาดความร่วมมือของนักวิเคราะห์ตลาด นักพัฒนาแนวคิด นักออกแบบ นักขาย นักวิเคราะห์ทางการเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย ฝากไว้เป็นประเด็นน่าสนให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ต่อยอดกันต่อไป

ในขณะที่ Mr. Martin Venzky-Stalling มุ่งเน้นนำเสนอแนวคิดเรื่องความยั่งยืนที่เปิดกว้างไปกว่าเรื่อง
สิ่งแวดล้อม แต่ต้องสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน เป็นงานที่สร้างรายได้ให้ชุมชน ให้ความสำคัญกับทุกบทบาทในสังคม พร้อมใส่ใจสิ่งแวดล้อมในคราวเดียวกัน ตามหลักของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals : SDGs เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนางานคราฟต์ไทยอย่างยั่งยืนต่อไป